CKPower ลงทุนในโรงไฟฟ้า 3 ประเภท กำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,640 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น
  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,360 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิตติดตั้งรวม 238 เมกะวัตต์
  • โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 42 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน มีกำลังการผลิตติดตั้งที่มาจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 93 ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยร้อยละ 96 ของกำลังการผลิตทั้งหมดขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐไทย

หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าของ CKPower สามารถคลิ๊กที่นี่เพื่อดูข้อมูล

บริษัทเปิดเผยข้อมูลสถิติการดำเนินงานที่สำคัญรายเดือน ในส่วนนักลงทุนสัมพันธ์บนเวบไซต์ของบริษัท โดยสามารถคลิ๊กที่นี่เพื่อดูข้อมูล

เขื่อนแบบกักเก็บ (Storage Dam) จะมีการสร้างอ่างเก็บน้ำในระดับที่สูงกว่าอาคารโรงไฟฟ้าเพื่อกักเก็บน้ำ และใช้ประโยชน์จากความสูงของระดับน้ำเพื่อเพิ่มแรงหมุนกังหันน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ผลิตไฟฟ้าในภายหลังได้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีลักษณะเป็นเขื่อนแบบกักเก็บของ CKPower คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2

ฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River Project) จะตั้งอยู่บนแม่น้ำโดยไม่มีการกักเก็บน้ำหรือผันน้ำออกจากแม่น้ำธรรมชาติ มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออก และไม่ส่งผลต่อการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำระดับน้ำด้านเหนือน้ำของฝายจะสูงกว่าด้านท้ายน้ำไม่มากเพื่อให้น้ำไหลและผลักดันใบพัดของเครื่องกังหันให้หมุนที่ความเร็วต่ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีลักษณะเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่ของ CKPower คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี

ปริมาณน้ำของแม่น้ำโขงใน สปป. ลาว จะขึ้นอยู่กับปริมาณฝนตามธรรมชาติและน้ำจากแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงเป็นหลัก โดย สปป. ลาว มีปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงคิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงทั้งหมด ขณะที่ประเทศจีนมีปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงคิดเป็นร้อยละ 16 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงทั้งหมด

ประเทศจีน เมียนมาร์ สปป. ลาว ประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม รวม
พื้นที่รับน้ำ (%) 21 3 25 23 20 8 100
ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง (%) 16 2 35 18 18 11 100

ที่มา: Overview of the Hydrology of the Mekong Basin, Mekong River Commission – พฤศจิกายน 2548

เขื่อนกักเก็บในประเทศจีนถูกออกแบบเพื่อกักเก็บน้ำไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก โดยจะเก็บน้ำบางส่วนในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากเพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้งทำให้ปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณมากขึ้นและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปี ซึ่งการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างโดยรวมมีความผันผวนลดลง

CKPower เน้นลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงในการหาเชื้อเพลิง และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับคู่สัญญาที่น่าเชื่อถือ โดยหากลงทุนในโครงการใหม่ที่ยังไม่เริ่มขายไฟฟ้า (Green Field Project) จะต้องมีอัตราผลตอบแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-15 ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ หากเป็นโครงการที่เริ่มขายไฟฟ้าแล้ว (Brown Field Project) จะต้องมีอัตราผลตอบแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ

CKPower มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและทุนสำรองตามกฎหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดของบริษัท แผนการลงทุน ภาระผูกพันตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ และปัจจัยอื่น ๆ โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่านโยบายอย่างสม่ำเสมอ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของ CKPower สามารถคลิ๊กที่นี่เพื่อดูข้อมูล

บริษัทเปิดเผยข้อมูลหุ้นกู้ทั้งหมด ในส่วนนักลงทุนสัมพันธ์บนเวบไซต์ของบริษัท ได้แก่

  • หุ้นกู้ของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) คลิ๊กที่นี่เพื่อดูข้อมูล
  • หุ้นกู้ของบริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2) คลิ๊กที่นี่เพื่อดูข้อมูล
  • หุ้นกู้ของบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) คลิ๊กที่นี่เพื่อดูข้อมูล

CKPower มุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ต่ำที่สุดรายหนึ่ง มีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 และจะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของกำลังการผลิตรวมภายในปี พ.ศ. 2586 โดยกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดที่บริษัทลงทุนจะมาจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ พลังน้ำ พลังแสงอาทิตย์ และพลังงานลม