ความท้าทาย

การดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และวิกฤติต่าง ๆ ของโลกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยบริษัทจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างรอบด้านตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากที่บริษัทจะต้องมีการจัดการและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยไม่กระทบมูลค่าผลตอบแทนที่พึงได้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความพร้อมของการดำเนินการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังต้องพัฒนาความเป็นเลิศด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดและความร่วมมือในธุรกิจการผลิตไฟฟ้า และการให้บริการด้านพลังงานหมุนเวียน และตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
แนวทางการปฎิบัติงาน

ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทในการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่มีการดำเนินงานอันมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายของภาครัฐ เทคโนโลยี และการองค์ประกอบสำคัญสามประการ ได้แก่ ความเป็นเลิศด้านการผลิตไฟฟ้า ความน่าเชื่อถือของกระบวนการ และศักยภาพของบุคลากร บริษัทได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร โดยมีแนวคิดหลัก คือ การส่งเสริมศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านการลงทุนในโอกาสทางธุรกิจใหม่ในและภูมิภาคอาเซียน และการประยุกต์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาค และสร้างตอบแทนที่ดีและเป็นธรรมแก่ลูกค้าและผู้ถือหุ้น ตามกลยุทธ์หลัก “P – Partnership for Life หรือ พันธมิตรที่ยั่งยืน”

แผนธุรกิจเพื่อสร้างความยืดหยุ่นของบริษัท

ในปี 2565 บริษัทได้พัฒนาแผนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยผนวกเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนขององค์กร และวางแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งมั่นของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ

  • การขยายกลุ่มลูกค้าใหม่คิดเป็นร้อยละ 3 ของลูกค้าทั้งหมด ในปี 2565
  • จัดทำแผนการดำเนินงานประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเสร็จสมบูรณ์ ภายในปี 2566
  • ดำเนินธุรกิจในประเทศใหม่ภายในภูมิภาคอาเซียน อย่างน้อย 1 แห่ง ภายในปี 2567
  • มีกลุ่มลูกค้าใหม่อย่างน้อย 3 ราย และดำเนินงานตามแผนงานเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจเสร็จสมบูรณ์ ภายในปี 2570
การพัฒนาบุคลากร - จัดตั้งหน่วยงาน CKP Exploration

บริษัทมุ่งมั่นที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานสะอาดที่สร้างมลภาวะน้อยที่สุดสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีมาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทุกระดับให้เกิดการเรียนรู้พัฒนา ส่งเสริมให้นำนวัตกรรมมาใช้ในระบบปฏิบัติงานและต่อยอดระบบงานให้มีประสิทธิภาพ จัดตั้งหน่วยงาน CKP Exploration ซึ่งประกอบด้วยทีมงานที่มีวิศวกรรุ่นใหม่และผู้บริหาร ที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อริเริ่มแนวทางการดำเนินธุรกิจ วิจัยและพัฒนา ค้นหาแนวทางการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทให้ทันกับทุกความท้าทายและโอกาสกระแสของโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงโดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ (Emerging Risks) ในอนาคต

การดำเนินงาน

การดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยืดหยุ่น ลดความเสี่ยง และกระจายโอกาส โมเดลธุรกิจของบริษัทมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนและสัดส่วนการลงทุน สร้างสมดุลและความยืดหยุ่นของการผลิตไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับแนวโน้มของตลาดพลังงานหมุนเวียน การขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิตและใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC: Renewable Energy Certificate) และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนเป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทได้ขยายตลาดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยผสานความร่วมมือกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ

การพัฒนาแผนการดำเนินงาน
บริษัทได้พัฒนาแผนการดำเนินงานที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ผนึกกำลังกับพันธมิตร
ผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ ขยายตลาดการลงทุน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ผ่านการดำเนินธุรกิจร่วมกับ INNOPOWER เป็นบริษัทพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ในตลาด REC ซึ่ง INNOPOWER ถือเป็นพันธมิตรที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนของบริษัทที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และธุรกิจที่ใช้พลังงานใช้แล้วหมดไป (Non-renewable Energy) ในการลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งบริษัทได้สร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อสำรวจโอกาสในการพัฒนาโครงการผลิตไฮโดรเจนที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Hydrogen Production Facilities) โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัทชั้นนำในไทยและต่างประเทศ
สร้างความเข้มแข็งให้ตลาดเดิม
สร้างความเข้มแข็งในตลาดเดิม และมุ่งแสวงหาตลาดการลงทุนในพื้นที่ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในกรอบการดำเนินงาน 5 ปี บริษัทมุ่งเน้นขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่และเพิ่มพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ภายในภูมิภาคอาเซียน
  • เพิ่มเติมในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กใน สปป. ลาว
  • เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับบริษัทเอกชนในประเทศไทย
นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุง

ในปี 2566 บริษัทได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่า (Hydrology Forecast) ที่จะไหลเข้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความร่วมมือระหว่างที่ปรึกษา Compagnie Nationale du Rhône จากประเทศฝรั่งเศสและทีมงานวิศวกรของบริษัท ใดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ในการประยุกต์หลักการทางชลศาสตร์และอุทกวิทยาในการประเมินปริมาณน้ำท่า โดยในระยะสั้นทีมงานวิศวกรรมอุทกวิทยามีแผนงานที่จะปรับปรุงและเพิ่มความแม่นยำของระบบติดตามและพยากรณ์น้ำท่า รวมทั้งรักษาความมั่นคงของระบบฐานข้อมูล เช่น การก่อสร้างสถานีวัดน้ำเพิ่มเติม การจัดการเรื่องเข้าถึงข้อมูล การปรับเปลี่ยนระบบ Physical Server เป็นระบบ Cloud ซึ่งการใช้งานแบบจำลองคณิตศาสตร์นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อก้าวสู่องค์กรที่มุ่งเน้นการประยุกต์นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital Transformation & Innovations) เข้าไปเสริมให้กับธุรกิจของบริษัทได้อย่างเหมาะสมในลำดับต่อไป ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทั้งระบบสื่อสาร ระบบโครงข่ายดาวเทียม คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

สำหรับในระยะยาวบริษัทมีแผนการปรับปรุงขยายแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์สำหรับโครงการอื่น ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการติดตาม ศึกษา และประมวลผลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) เป็นต้น เนื่องจากปริมาณน้ำท่าเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตและส่งมอบพลังงานไฟฟ้าให้กับลูกค้า เพื่อการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง สร้างสรรค์กระบวนการรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นหรือประสบการณ์รูปแบบใหม่แก่ลูกค้าหรือพนักงาน

การกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร
และการขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจ
ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน

เตรียมความพร้อมนำกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing: ICP) สร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก (Green Finance) ให้กับองค์กร

การขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates (RECs)) ของบริษัท บางเขนชัย จำกัด และเตรียมพัฒนาต่อยอดสำหรับการขาย RECs ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ผลการดำเนินการปี 2566

1. การเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ รวมกำลังการผลิต

ในปี 2566 บริษัทเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ รวม 1,466 เมกะวัตต์ โดยมีสรุปผลการดำเนินงานเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง ดังนี้

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง

ได้บรรลุข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆ ตามสัญญาสัมปทานสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และสัญญาทางการเงินของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ครบถ้วนตามแผนในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยโครงการจะมีกำลังการผลิต ติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ และจําหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้กับการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ใน ช่วงต้นปี 2573

โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปักธงชัย

ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 โดยโครงการมีกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ มีกำหนดเริ่มผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2570 และ มีระยะเวลาสัญญา 25 ปีนับจากวันเริ่มผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าพาณิชย์

ซึ่งผลการดำเนินงานจาก 2 โครงการดังกล่าว ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัท รวมเป็น 3,633 เมกะวัตต์ และมีสัดส่วนกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัทเพิ่มจากร้อยละ 89 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 93 การดำเนินงานนี้สะท้อน จุดมุ่งหมายของบริษัทในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อย่างต่อเนื่อง (รายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการแสดงในรายงาน 56-1 one report ส่วนที่ 1 หัวข้อที่ 1 โครงสร้างและการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

2. การขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน จํานวน 6,500 RECS

ในปี 2566 การขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนเครดิต และใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) โดยบริษัทได้ดำเนินการขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน จํานวน 6,500 RECS จากโครงการ PAKTSOLA001 ของ บริษัท บางเขนชัย จํากัด ให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจซื้อใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่าน บริษัท อินโนพาวเวอร์ จํากัด ซึ่งเป็นการขยายโอกาสที่ผ่านทางธุรกิจที่ต่อยอดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของบริษัท ตอกย้ำการเป็นผู้นำพลังงานสะอาด เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับธุรกิจ

3. การออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จํากัด หรือ XPCL

โครงการที่สำคัญที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 ได้แก่ การออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จํากัด (บริษัทร่วมในเครือของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จํากัด (มหาชน)) โดยการ เสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ มีนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจจองหุ้นกู้ดังกล่าวรวมจํานวน 3,500 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองในวงเงินที่เปิดจอง จํานวน 2,000 ล้านบาท และมียอดจองเพิ่มเติมในส่วนที่สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) อีก 1,500 ล้านบาท ตอกย้ำความสําเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

บริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท (Green Bond) ครั้งที่ 1/2566 ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทน ผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ชุด คือ

  • หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคมปี 2569 อัตราดอกเบี้ย คงที่ร้อยละ 5.15 ต่อปี
  • หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2570 อัตราดอกเบี้ย คงที่ร้อยละ 5.30 ต่อปี
  • หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 5 ปีครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคมปี 2571 อัตราดอกเบี้ย คงที่ร้อยละ 5.55 ต่อปี

สําหรับหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ กรีนบอนด์ สกุลเงินบาทของ XPCL ที่เสนอขายในครั้งนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมาโดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จํากัด ที่ "BBB+" แนวโน้ม "คงที่" ขณะที่ XPCL มีอันดับเครดิตองค์กรที่ "A-" แนวโน้ม "คงที่" สะท้อนสถานะของบริษัท ที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคง จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ยังเป็นหุ้นกู้ที่ได้มาตรฐาน Green Bond Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018 และได้ผ่านการสอบทานโดยองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นน่า ของโลก DNV ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer)

ทั้งนี้บริษัทนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ และลดต้นทุนทางการเงิน เพื่อให้สถานะทางการเงินของ XPCL มั่นคง รวมถึงนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนของบริษัทเพื่อนำไปขยายผลการดำเนินงานตามกรอบวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งสู่ "พลังงานสะอาด สู่สังคมคาร์บอนต่ำ" ซึ่งสอดรับกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สําคัญของภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป

4. ความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ CKPower กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM ในการนำพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขับเคลื่อนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนครั้งแรกในประเทศไทย

บริษัทได้วางแผนธุรกิจในการสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้การคมนาคมขนส่งซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้การตกลงร่วมมือกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จํากัด (มหาชน) นำไฟฟ้าสะอาดที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ มาใช้เดินรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง (สายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชรรรม) ครั้งแรกในเมืองไทย ตอกย้ำการเป็นผู้บุกเบิกพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค อาเซียน และมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จากที่เล็งเห็นโอกาสการเติบโตจากการผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งระบบ รถไฟใต้ดิน MRT สายสีนํ้าเงินกับสีม่วงต้องใช้รวมกันทั้งหมดบนระยะทางกว่า 71 กิโลเมตร ให้บริการขนส่งมวลชน 54 สถานีทั่วกรุงเทพฯ โดยตลอดความร่วมมือนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการนี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่สําคัญของบริษัทและ BEM จะศึกษาและต่อยอดความเป็นไปได้ในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้กับระบบขนส่งที่กำลังเติบโตขยายตัวมากขึ้น และมีความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608