ความท้าทายและโอกาส

ในปัจจุบัน ความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นทั้งจากทิศทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน, การเพิ่มขึ้นของมาตรการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม, และการใช้พลังงานสะอาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ซึ่งบริษัทต้องให้ความสำคัญกับการจัดการดูแลนวัตกรรมขององค์กร เพื่อให้บริษัทมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับธุรกิจใหม่และสามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีการกำหนดแผนในการดำเนินงานและการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานและการให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร บริหารจัดการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ความมุ่งมั่น

บริษัทมีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านจาก พลังงานดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาด และด้วยการไม่หยุดพัฒนาทำให้พิสูจน์ได้ว่า "ไฟฟ้าพลังน้ำ คือพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน" ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อีกทั้งเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ ดียิ่งขึ้น ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชน โดย อาศัยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้และมุ่งเน้นให้บุคลากร ภายในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในองค์กรไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการกำหนดให้การจัดการนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณในการ ดำเนินธุรกิจขององค์กร

เป้าหมายและผลการดำเนินงาน

แนวทางการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม

บริษัทได้กำหนดให้การจัดการนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจขององค์กร เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพนักงานและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ความสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและระบบการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆที่เข้าไปลงทุน เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีระบบการบริหารจัดการต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ และให้ผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาระบบการปฏิบัติงานสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยต่อยอดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้มีการระดมความคิดเพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในองค์กรไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดแนวทางพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมโดยมีองค์ประกอบดังนี้

ทั้งนี้เพื่อรองรับการดำเนินงานในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล บริษัทได้ปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพภายใต้ “กรอบการดำเนินงานภายในอุตสาหกรรม” (Industry Framework) ซึ่งเป็นกระบวนการมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ (Industry Standard Model for Business Processes)

แนวทางพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมโดยมีองค์ประกอบ

บริษัทได้กำหนดกรอบการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเป็นแนวทางให้แก่พนักงานมีส่วนร่วมในการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรสิ่งแวดล้อมและสังคม

  1. การรวบรวมข้อมูล โดยให้พนักงานที่เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ จัดทำเป็นคู่มือหรือฐานข้อมูลเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้กับพนักงานในทุกระดับชั้น
  2. การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการเข้าถึงแหล่งข้อมูล และจัดให้มีหลักสูตรการอบรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดและส่งต่อความรู้รวมถึงประสบการณ์ให้แก่พนักงานของบริษัทเพื่อที่จะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาต่อไป
  3. การประยุกต์ใช้ความรู้ รวบรวมและจัดทำให้เกิดเป็นมาตรฐานการทำงานใหม่ เพื่อผลักดันให้พนักงานสามารถต่อยอดความรู้เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อรองรับการดำเนินงานในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล บริษัทได้ปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีทันสมัยและมีประสิทธิภาพภายใต้ “กรอบด้านดำเนินงานภายในอุตสาหกรรม” (Industry Framework) ซึ่งเป็นกระบวนการมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ (Industry Standard Model for Business Processes)

การเผยแพร่นวัตกรรม

การเผยแพร่นวัตกรรมต่อหน่วยงานภายนอก

บริษัทได้มีการเผยแพร่นวัตกรรมให้กับผู้มีส่วนได้เสียผ่านกิจกรรมการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าและการสัมมนาบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรม รวมไปถึงการเผยแพร่ความรู้อย่างต่อเนื่องในด้านพลังงานสะอาด พลั้งงานหมุนนเวียน และนวัตกรรมในการประหยัดพลังงาน ตลอดจนแนวทางการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยในปีที่่ผ่านมามีกิจกรรมเผยแพร่นวัตกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และการเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าไซยะบุรี รวม 2,467 คน

มีกิจกรรมเผยแพร่นวัตกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และการเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี
2,467
คน
การเผยแพร่นวัตกรรมภายในองค์กร

ในปี 2567 ได้จัดกิจกรรม Town Hall ประจำปี 2024 ภายในองค์กร โดยมีผู้บริหารและพนักงาน ของบริษัท และทุกโรงไฟฟ้า เข้าร่วมกิจกรรม โดยนายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บรรยายแนวทางการเป็นผู้นำองค์กรด้านพลังงานอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในได้จัด Sustainability Talk ในหัวข้อ Driving Sustainability DNA มีการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานสู้ความยั่งยืนในด้านการส่งเสริมและจัดทำนวัตกรรมองค์กรในการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของบริษัท มีนโยบายให้พนักงานสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกลยุทธ์ความ ยั่งยืน C-K-P ในด้าน C - Clean Electricity หรือ ไฟฟ้าสะอาด การคิดค้นนวัตกรรมการจัดการเพื่อลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในทุกสัปดาห์ แผนกต่างๆ ในโรงไฟฟ้าได้จัด In-house Training เพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังใช้ระบบ KPI เป็นแรงขับคลื่อนโดยมุ่งเน้นไปในเรื่องที่เป็นปัญหาในกระบวนการต่างๆ โดยใช้นวัตกรรมเพื่อให้เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ ทำให้ทุกแผนกได้องค์ความรู้ใหม่ๆ และเกิดการเรียนรู้นอกสายงานจนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายในโรงไฟฟ้าเพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทอย่างแท้จริง

การติดตามประสิทธิผลของการดำเนินการ

จากความมุ่งมั่นในการจัดการและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทตามกลยุทธ์ที่ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันบริษัทมีนวัตกรรมสะสมที่ใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 16 นวัตกรรม โดยมีโครงการนวัตกรรมใหม่ 2 โครงการ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา มีนวัตกรที่เป็นพนักงานภายในองค์กรรวม 50 คน นอกจากนี้ในกรณีโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจเนอร์เรชั่น ยังได้กำหนด KPI ให้พนักงานทุกภาคส่วน มีการศึกษาและจัดทำนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขจุดบกพร่องของโรงไฟฟ้า โดยทางโรงไฟฟ้าบางปะอินได้จัด Innovation session ในทุกสัปดาห์ เพื่อให้พนักงานโรงไฟฟ้าได้นำความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่พนักงานปฏิบัติงานอยู่มานำเสนอ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเพิ่มพูนความรู้ด้านนวัตกรรมร่วมกัน ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้จาก Innovation session มาพัฒนาการทำงานและดำเนินโครงการในโรงไฟฟ้าได้

บริษัทมีนวัตกรรมสะสมที่ใช้งานอยู่ทั้งสิ้น
16
นวัตกรรมสะสม

มีนวัตกรที่เป็นพนักงานภายในองค์กรรวม
50
นวัตกรสะสม
ผลการดำเนินงาน

ในปี 2566 บริษัทมีการดำเนินโครงการนวัตกรรมที่ริเริ่มใหม่จำนวน 2 โครงการ และมีโครงการที่ต่อยอดจากนวัตกรรมเดิม และการสานต่อโครงการนวัตกรรมจากที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องรวม 14 โครงการ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและกระบวนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการดำเนินโครงการด้านการบริหารจัดการพลังงานส่งผลให้บริษัทลดการใช้พลังงาน 2,026เมกะวัตต์-ชั่วโมง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 119,520 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดทรัพยากรน้ำ 28,006 ลูกบาศก์เมตร ลดต้นทุนด้านพลังงาน 16.3 ล้านบาท รวมถึงสามารถสร้างนวัตกรสะสมให้กับบริษัท 50 คน

นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรม

ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงไฟฟ้าต้นแบบด้านความยั่งยืน บริษัทไม่เพียงเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งยังนำเสนอนวัตกรรมการออกแบบและก่อสร้างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาค อาทิ ระบบทางปลาผ่านแบบผสมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี พร้อมกันนี้บริษัทยังมุ่งสนับสนุนการเผยแพร่นวัตกรรม และองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้แก่ทุกภาคส่วนผ่านกิจกรรมการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าและการสัมมนาบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรมดังกล่าว รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงาน ตลอดจนแนวทางการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า บริษัทมุ่งส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมให้แก่เยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบโครงการ พร้อมทั้งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 4 ในเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2566 มีกิจกรรมเผยแพร่นวัตกรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และการเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี รวม 2,467 คน

บริษัทดำเนินการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้มีความทันสมัยผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)โดยนำระบบ "SAP S/4 HANA 1610 SP 2" มาใช้เพื่อช่วยลดความซับซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการดำเนินงาน พร้อมกันนี้ บริษัทมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร ภายใต้ "กรอบการดำเนินงานภายในอุตสาหกรรม" (Industry Framework) ซึ่งเป็นกระบวนการมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ (Industry Standard Model for Business Processes) เพื่อให้บริษัทสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลภายในระยะเวลาและงบประมาณที่จัดสรรไว้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

นวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต และการลดการใช้ทรัพยากร

ทีมวิศวกรได้ปรับปรุงระบบทำความสะอาดระบบอัดอากาศของกังหันก๊าซแบบออนไลน์โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น โดยการหาจุดที่เหมาะสมสำหรับความถี่ในการทำความสะอาด ช่วยลดความถี่ในการทำความสะอาดระบบอัดอากาศแบบออนไลน์และลดปริมาณการใช้ทรัพยากรน้ำ โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพของระบบอัดอากาศ ซึ่งการปรับปรุงระบบในครั้งนี้ ช่วยแก้ไขปัญหาจากการดำเนินงานของระบบล้างระบบอัดอากาศของกังหันก๊าซแบบออนไลน์ ที่ระบบจะต้องลดกำลังการผลิตลงให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมก่อนการทำความสะอาด ส่งผลให้ในช่วงที่ลดกำลังการผลิตทำให้กังหันก๊าซไม่ได้เดินเครื่องในจุดที่ประสิทธิภาพดีที่สุด เกิดเป็นความสูญเสียทั้งหน่วยการผลิตไฟฟ้าและปริมาณก๊าซธรรมชาติ โครงการนวัตกรรมดังกล่าว ลดการใช้พลังงาน 1,839 เมะกวัตต์-ชั่วโมง ลดการใช้ทรัพยากรน้ำ 40 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือคิดเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำ 6,827,649 บาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 847.37 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ฝ่ายวิศวกรรมของโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นที่ 1 พบปัญหาการสูญเสียพลังงานจากการทำงานของเครื่องอัดก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเมื่อแรงดันที่ออกจากเครื่องอัดมากเกินความจำเป็น และทำให้ระบบวาล์วส่งก๊าซกลับเข้าลูกสูบทำงาน โดยฝ่ายวิศวกรรมของโรงไฟฟ้าได้ศึกษาและปรับปรุงระบบวาล์วก๊าซเข้าลูกสูบ เพื่อลดแรงดันของก๊าซหลังออกจากลูกสูบส่งผลให้ระบบวาล์วส่งก๊าซกลับไม่ถูกเปิดออก โครงการนวัตกรรมดังกล่าว โครงการดังกล่าวสามารถลดการใช้พลังงานจากเดิม 980 กิโลวัตต์ ลดลงเหลือ 860 กิโลวัตต์ ซึ่งประหยัดพลังงานได้ประมาณ 375,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 109,954 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 885,000 บาท/ปี

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น พัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านโครงการลดความสูญเสียพลังงานภายในระบบการผลิต โดยตรวจสอบ วิเคราะห์ และปรับปรุง ความดันของของไหลในแต่ละจุดของระบบท่อในกระบวนการผลิต ให้มีความเหมาะสมที่สุด เพื่อลดอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องอัดก๊าซธรรมชาติ (Gas Compressor) ที่ใช้ในการเพิ่มความดันของระบบ ซึ่งผลจากโครงการการศึกษา ปรับปรุงและทดลองเพื่อหยุดการใช้งาน Gas Compressor ในช่วงที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าต่ำนี้ ทำให้ในปี 2566 บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 688 เมกะวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 317.91 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,561,520บาท โดยนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัล Asian Power Awards 2023 จากนิตยสาร Asian Power ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าของเอเชีย ในด้านโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติแห่งปี และชนะการเป็นโรงงานไฟฟ้าที่มีการยกระดับสิ่งแวดล้อมแห่งปีภายในประเทศไทย

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น มีนโยบายการส่งเสริมและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า และยังสามารถยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักรที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายจากการบำรุงรักษาที่มากขึ้นตามไปด้วย โรงไฟฟ้าจึงได้จัดทำโครงการใช้งานเครื่องทำอากาศแห้งร่วมกันระหว่างโครงการ 1 และ โครงการ 2 และหยุดเดินเครื่องทำอากาศแห้ง (Air dryer) โครงการ 2 ลง 1 ชุด เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งจากโครงการนวัตกรรมนี้ บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตในปี 2566 ได้ 2,875 กิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ในช่วงเวลาความต้องการกำลังไฟฟ้าต่ำ (Off Peak Period) ส่งผลให้พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นต้องระบายทิ้งลดน้อยลง ประกอบกับอุณหภูมิต่ำในช่วงเวลากลางคืน ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นในการทำงานของระบบหล่อเย็น (Cooling Tower) อย่างเต็มกำลัง บริษัทจึงหยุดการทำงานของพัดลมระบายความร้อน (Cooling Fan) 1 เครื่อง ในช่วงเวลา 0:00-06:00 นาฬิกา ของทุกวัน ซึ่งส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าได้ 94กิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 43.52ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า และลดค่าใช้จ่ายคิดเป็นปีละ 350,648บาท อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนชั่วโมงในการทำงานและชะลอการสึกหรอของเครื่องจักร นอกจากนี้ บริษัทได้ส่งโครงการหยุดพัดลมระบายความร้อน (Cooling Fan) ในช่วงความต้องการกำลังไฟฟ้าต่ำ

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด บริหารจัดการระบบการเปิดปิดพัดลมดูดอากาศที่ Cooling Tower เพื่อลดพลังงานไฟฟ้า และเดินเครื่องปั๊มส่งน้ำระบายความร้อนเพื่อเพิ่มความสามารถในการนำส่งพลังงานความร้อนมายัง Cooling Tower ส่งผลให้ลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในโรงไฟฟ้า และลดการสูญเสียของน้ำที่ระเหยไปกับลมผ่านพัดลมดูดอากาศ โดยในปี 2566 สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 86 เมกะวัตต์ชั่วโมง คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 39.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 320,317 บาท โดยโครงการนี้ได้รับรางวัล Asian Power Awards 2023 ซึ่งจัดโดยนิตยสารชั้นนำด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าของเอเชีย ในสาขาผู้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานแห่งปี (Innovative Power Technology of the Year)

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ศึกษาปัญหาเรื่องค่าความต้านทานของฉนวนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ลดลงค่อนข้างเร็วโดยหากค่ามีความต่ำเกินไปอาจส่งผลทำให้เกิดความเสียกับอุปกรณ์ได้ รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองแปรงถ่านที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยหลังจากการเก็บข้อมูลศึกษาและทดลองติดตั้งอุปกรณ์ดูดผงแปรงถ่านที่เกิดขึ้นที่บริเวณวงแหวนลื่น (Slip Ring) พบว่า

  1. การติดตั้งอุปกรณ์ สามารถช่วยชะลอการลดลงของค่าความต้านทานฉนวน ซึ่งลดลงช้ากว่าเดิม
  2. ช่วยลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจากผงแปรงถ่าน PM2.5 ในบริเวณที่มีการทำงาน
  3. ช่วยยืดอายุการใช้งานของแปรงถ่านได้ในระดับหนึ่ง และลดการสึกหรอของอุปกรณ์

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ศึกษาการบำรุงรักษาเพื่อลดการนำ Spare Part จากต่างประเทศและลดการสูณเสียพลังงานจากการสึกหรอจากการใช้งานซีลยางที่ใช้กับวาล์วหลักของโรงไฟฟ้าบริษัทดำเนินศึกษาค้นคว้าเลือกซีลที่มีความเหมาะสมกับอุปกรณ์มากที่สุด ตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมี พร้อมประเมินความเสี่ยงก่อนนำมาใช้งาน ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยชะลอการสึกหรอแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ 80 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่นที่ 1 ได้จัดโครงการ Adjust Control Range Chloride of Cooling BIC1 ซึ่งเป็นการเพิ่มความเข้มข้นของคลอไรด์ เนื่องจากปริมาณน้ำทิ้งจากหอระบายความร้อนนั้นจะขึ้นอยู่กับค่า Cycle of Concentration ของระบบน้ำหล่อเย็นที่เป็นผลมาจากปริมาณความเข้มข้นของคลอไรด์ ดังนั้น ทางบริษัทจึงได้ทำการเพิ่มความเข้มข้นของคลอไรด์ เพื่อใช้ลดปริมาณน้ำทิ้งของหอระบายความร้อน โรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่นที่1 โดยการดำเนินงานในปี 2566 ช่วยลดปริมาณน้ำทิ้งจากระบบหอหล่อเย็นและลดปริมาณน้ำที่เติมเข้าสู่ระบบมากกว่า 28,006 ลูกบาศก์เมตร หรือ 28 ล้านลิตร รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 1.8 ล้านบาท/ปี โครงการนี้มีความปลอดภัยและยังลดการใช้ทรัพยากรน้ำ โดยอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมโดยพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทมีความคำนึงถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าไปพร้อมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เนื่องจากลูกค้าไอน้ำของโรงฟ้าบางปะอิน ลดปริมาณการใช้ไอน้ำลงจากเดิม ทำให้เกิดไอน้ำเหลือใช้และทิ้งลงสู่เครื่องควบแน่นส่งผลให้เกิดการสูญเสียพลังงานเป็นจำนวนมากในกระบวนการผลิต ซึ่งบริษัทได้เล็งเห็นโอกาสจากการนำไอน้ำส่วนนี้มาใช้ผลิตไฟฟ้า จึงจัดทำโครงการเพื่อดำเนินการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเพื่อลดการสูญเสียไอน้ำส่วนนี้ โดยนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ลูกค้าไอน้ำใช้ไอน้ำในปริมาณที่ต่ำ จากการจัดทำโครงการ บริษัทได้ปรับปรุงความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของเครื่องกังหันไอน้ำให้ได้จำนวน 25.3 เมกกะวัตต์ ที่สูงกว่าเดิมและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตโดยการปรับปรุงระบบควบคุมเครื่องกังหันไอน้ำให้สามารถนำไอน้ำที่เหลือดังกล่าว มาใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้จากเดิมอีก 1.3 เมกกะวัตต์ ได้สำเร็จ

โดยในปี 2566 จากการริเริ่มพัฒนานวัตกรรม และดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานในการอัดก๊าซได้ถึง 1,422เมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือคิดเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน 5,295,432 บาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 657.21ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้ง บริษัทได้รับรางวัลจาก Asian Power Awards ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Asian Power เป็นนิตยสารชั้นนำ ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าของเอเชีย ในรางวัล “Gas Engine Combined Cycle Power Project of the Year – Silver” ซึ่งถือเป็นรางวัลสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานมีแรงขับเคลื่อนและแรงกระตุ้นที่จะคิดค้นโครงการและนวัตกรรม อย่างต่อเนื่อง

โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบฉีดน้ำมันหล่อลื่นของเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพและพอเหมาะกับปริมาณความต้องการใช้ จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันหล่อลื่นลดลงและลดปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดจากน้ำมันใช้แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2566 โรงไฟฟ้าสามารถลดปริมาณใช้น้ำมันหล่อลื่นและของเสียอันตราย 840 ลิตร/ปี ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อน้ำมันหล่อลื่นและค่ากำจัดน้ำมันใช้แล้ว ประมาณ 3,000 บาท/ปี ยังช่วยให้บริษัทสามารถลดการใช้พลังงานในการอัดก๊าซได้ถึง 238 เมกะวัตต์-ชั่วโมง หรือคิดเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน 885,952 บาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 110 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ใช้เทคโนโลยี Dry Low NOx Burner (DLE) ควบคุมเชื้อเพลิงให้ผสมกับอากาศก่อนที่จะเข้าสู่การเผาไหม้ ช่วยให้อุณหภูมิในห้องเผาไหม้ลดลง สามารถลดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ได้ประมาณร้อยละ 40-50 และยังสามารถลดการสูญเสียเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อีกทั้งบริษัทได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitor System: CEMs) เพื่อเฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณปล่องระบายอากาศ สามารถแสดงผลการตรวจวัดแบบต่อเนื่อง และสามารถประมวลผลได้อย่างทันที (Real-time) อีกทั้ง บริษัทได้เปิดเผยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศในการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้ง โดยในปี 2566 บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดทั้งหมด และมีการเปิดเผยรายงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring) สู่สาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  1. ระบบทางปลาผ่านแบบผสมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (Hybrid Fish Passing and Fisk Locks System in Xayaburi Hydroelectric Power Plant)

    บริษัทได้ใช้ระบบทางปลาผ่านแบบผสมหรือ “Hybrid Fish Passing and Fish Lock System” เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงระหว่างแขวงไซยะบุรีและแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินงาน 564,000 เฮกตาร์ โดยบริษัทได้มีการศึกษาความเหมาะสมตามชนิดพันธุ์ปลาตั้งแต่กระบวนการออกแบบก่อสร้าง รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ ตาม IUCN Red List ก่อนที่บริษัทจะเริ่มนำระบบทางปลาผ่านแบบผสมมาใช้

    ระบบทางปลาผ่านแบบผสมของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hybrid Fish Passing and Fish Locks System โดยมีทางปลาผ่าน (Vertical-slot Fishway) เชื่อมต่อกับช่องยกปลา (Fish Locks) ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีความกว้างของทางปลาผ่าน 18 เมตร และลึกมากที่สุด 16 เมตร ซึ่งระบบการทำงานและระบบการติดตามของทางปลาผ่านแบบผสมได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดปลา และสอดคล้องกับพฤติกรรมปลาในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ โดยธรรมชาติของปลาจะว่ายทวนกระแสน้ำไปยังบริเวณเหนือน้ำ เมื่อถึงช่วงเวลาขยายพันธุ์และวางไข่ เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลาและรักษาวงจรชีวิตสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง ช่วยให้โรงไฟฟ้าหลังงานน้ำ ไซยะบุรีสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนให้แก่ธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขงได้

  2. ระบบการติดตามปลาโดยการใช้ไมโครชิพ (Passive Integrated Transponder: PIT Tag System)

    บริษัท ได้สนับสนุนงานวิจัยเชิงบุกเบิกซึ่งจัดทำโดยทีมความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัทและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ซึ่งดำเนินงานร่วมกับคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย Charles Sturt ประเทศออสเตรเลีย การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจาก ศูนย์วิจัยการเกษตรระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (ACIAR; FIS-2017-17) และทุนสนับสนุนจาก บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กิจกรรมทั้งหมดในโครงการนี้รวมถึงการจัดหาและการทดลองกับปลาได้รับการคุ้มครองภายใต้หน่วยงานการดูแลสัตว์และจริยธรรมของมหาวิทยาลัย Charles Sturt A19040

    เป้าหมายหลักของโครงการวิจัยนี้คือการประเมินความเป็นไปได้ของการติดPIT T ในปลาแม่น้ำโขง 4 ชนิดที่จับได้จากธรรมชาติ ได้แก่ ปลาปาก (Hypsibarbus lagleri) ปลากดเหลือง (Hemibagrus filamentus) ปลาเวียนไฟ (Barbonymus schwanenfeldii) และ ปลาปากเปี่ยน (Scaphognathops bandanensis) โดยเราได้ทำการทดลองติด PIT Tag ที่ปลา และปล่อยลงในบ่อพักฟื้นของศูนย์วิจัยปลาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ผลการทดลองเหล่านี้จะช่วยให้เราทราบว่าปลาแม่น้ำโขง 4 ชนิดนี้สามารถติด PIT Tag ได้อย่างปลอดภัย และ PIT Tag จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของปลา หากผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ ก็จะสามารถนำเทคโนโลยี PIT Tag มาใช้ประเมินประสิทธิภาพของระบบทางปลาผ่านและระบบนิเวศวิทยาของปลาในแม่น้ำโขงต่อไปได้

นอกจากนี้ในปี 2566 บริษัทริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตโดยใช้พลังงานไฮโดรเจน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ของบริษัท โดยโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คือ

  1. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนียสีเขียว
  2. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น

ภายใต้นวัตกรรมที่บริษัทได้ประยุกต์ใช้ทั้งหมด มีโครงการด้านการบริหารจัดการพลังงานสะสม 6 โครงการ ส่งผลให้บริษัทได้รับรางวัล Asian Power Award 2023

ผลการดำเนินงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน