กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

ในปี 2566 บริษัทได้มีการทบทวนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยนำประเด็นสำคัญขององค์กร มาใช้เป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบกระบวนการกำหนดกรอบกลยุทธ์ ผ่านการระดมความคิดเห็นกับผู้บริหาร และตัวแทนกลุ่มพนักงานในระดับปฏิบัติการ และการสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรในการเป็น "เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่มีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่ง" ควบคู่กับการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชนและสังคม

บริษัทมีการกำหนดกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก “ซี เค พี” ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม (C – Clean Electricity หรือไฟฟ้าสะอาด) มิติสังคม (K – Kind Neighbor หรือ เพื่อนบ้านที่ดี) และมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (P – Partnership for Life หรือ พันธมิตรที่ยั่งยืน) พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายและกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน และวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 5 ปี (ระหว่าง ปี 2565-2569) ในประเด็นสำคัญทั้ง 5 ด้าน เพื่อการขับเคลื่อนบริษัทสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดพร้อมทั้งสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และเติบโตทางธุรกิจต่อไปในอนาคตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้แก่

  1. การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. ความหลากหลายทางชีวภาพ
  3. การดูแลชุมชนและสังคม
  4. การเคารพสิทธิมนุษยชน
  5. ความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ
C – Clean Electricity
(ซี คือไฟฟ้าสะอาด)
K – Kind Neighbor
(เค คือเพื่อนบ้านที่ดี)
P – Partnership for Life
(พี คือพันธมิตรที่ยั่งยืน)
มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากทางชีวภาพ โดยยังคงศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ รับผิดชอบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างคุณค่าให้กับชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เสริมศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านการลงทุนในโอกาสทางธุรกิจใหม่ในประเทศและภูมิภาคอาเซียน และการประยุกต์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาค และสร้างผลตอบแทนที่ดีและเป็นธรรมแก่ลูกค้าและผู้ถือหุ้น

โดยกรอบการพัฒนาสู่ความยั่งยืน C-K-P ที่บริษัทต้องตอบสนองอย่างจริงจัง ผ่านการดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติตามหลักสากล 10 ประการ ทั้งหมด 13 เป้าหมาย ภายใต้ความรับผิดชอบพื้นฐานในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต

โครงสร้างการบริหารจัดการความยั่งยืน

นอกเหนือจากที่บริษัทได้ดำเนินการกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กรแล้ว บริษัทจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainable Development Steering Committee) ซึ่งมีกรรมการผู้จัดการบริษัทเป็นประธานกรรมการและมีผู้บริหารจากทุกโรงไฟฟ้าครอบคลุมทุกขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานสนับสนุนการเปิดเผยด้านความยั่งยืนขององค์กร (Sustainability Supporting and Disclosure Working Team) และคณะทำงานความยั่งยืนองค์กรของทุกโรงไฟฟ้า (Plant Sustainability Working Team) เป็นหน่วยงานที่จะผสานกำลังในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้การเสนอข้อคิดเห็นด้านการจัดการความยั่งยืน ได้รับการติดตาม กำกับดูแล และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตามความมุ่งมั่น และวิสัยทัศน์ของกลุ่ม ซีเค พาวเวอร์ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินกระบวนการบริหารจัดการที่สะท้อนทิศทางและเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจน